27 เมษายน 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

มฟล.ร่วมอบต.จันจว้า ประกาศเขตอนุรักษ์ “เวียงหนองหล่ม” ห้ามรุกล้ำพื้นที่ พัฒนาแหล่งเศรษฐกิจชุมชน-ท่องเที่ยวสายมู

1 min read

***เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2567 ที่บริเวณปางควาย-เวียงหนองหล่ม บ้านป่าสักหลวง ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโครงการวิจัยภูมิทัศน์ของตำนานพื้นที่แอ่งเชียงแสน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นประธานเปิดโครงการ “ฟื้นใจเวียงหนองด้วยศรัทธา สืบชะตาป่าต้นอั้น” ของเทศบาลตำบลจันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เพื่ออนุรักษ์พืชในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ “ต้นอั้น” เป็นไม้ท้องถิ่นที่เชื่อกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ใช้ในการทำเครื่องลางของขลัง มีลักษณะคล้ายต้นป่าโกงกางแต่อยู่ในน้ำจืดซึ่งเคยมีอยู่หนาแน่นในเวียงหนองหล่ม โดยมีนายทนงศักดิ์ ทองแสน นายกเทศมนตรีตำบลจันจว้า เป็นประธานในพิธี รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ภายหลังพิธีเปิดมีกิจกรรมทำบุญถวายปัจจัยสังฆทานแด่พระอธิการนภดล โสภณมโน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกู่แก้ว ขบวนแห่เครื่องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิเทพยดาฟ้าดินแห่งเวียงหนองหล่มซึ่งเคยเป็นเมืองใหญ่ในอาณาจักรโยนกนาคพันธ์สิงหนวัติ พิธีสืบชะตาป่าต้นอั้น พิธีอ่านโองการฟื้นใจเวียงหนอง และพิธีปิดป้ายโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

***หลังจากนั้นนายทนงศักดิ์ ทองแสน นายกเทศมนตรีตำบลจันจว้า และ รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโคงการวิจัยภูมิทัศน์ของตำนานพื้นที่แอ่งเชียงแสน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และคณะได้ร่วมกันประกาศให้เวียงหนองหล่มเป็น “สถานะบุคคลทางวัฒนธรรมเวียงหนองหล่ม” โดยมีสัญลักษณ์เป็นการการผูกผ้าบนเสาใจเมืองเวียงหนองที่ตั้งอยู่ตรงพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นอั้นดังกล่าวพร้อมมีการโปรยข้าวตอกดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ว่าพื้นที่แหง่นี้จะได้รับการอนุรักษ์ต่อไป

***นายทนงศักดิ์ ทองแสน นายกเทศมนตรีตำบลจันจว้า กล่าวว่า เวียงหนองหล่มมีตำนานและประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน รวมทั้งมีธรรมชาติโดยเฉพาะแหล่งน้ำและต้นไม้คือต้นอั้นที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีการบุกรุกจนกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องมานาน  ดังนั้นทางท้องถิ่นจึงยินดีอย่างมากที่ทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้เข้ามาร่วมในการอนุรักษ์ เพราะพื้นที่แห่งนี้รายล้อมด้วยประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากถึง 90% เดิมมีพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ แต่เพราะแนวเขตไม่ชัดเจนทำให้ในปัจจุบันเหลือพื้นที่อยู่เพียง 15,000 ไร่ รวมทั้งยังมีคดีฟ้องร้องกันระหว่างเทศบาลและเอกชนที่พยายามจะเข้าไปครอบครองอีกกว่า 3-4 ราย

***ว่าที่ร.ต.ธีรภพ ธนะศรี ปลัดเทศบาลตำบลจันจว้า กล่าวว่า หลักการพัฒนาพื้นที่เวียงหนองหล่มของเทศบาลตำบลจันจว้าคือต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและต้องไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งจะมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เข้ามากำกับดูแลเนื่องจากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่การดำเนินงานก็ยังไม่สามารถเป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้ เช่นการขุดร่องน้ำเดิมและนำดินทิ้งเป็นเนินได้อย่างไร โครงการต่างๆที่จะมาลงในพื้นที่ยังไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เพราะไม่ใช่ที่สาธารณะประโยชน์ ต้องมีการกำหนดแนวเขตให้ชัดเจน และมีการแจ้งให้ประชาชนทราบไม่ให้รุกล้ำเข้ามา ในส่วนที่รุกล้ำก็จะดำเนินการเพิกถอน ซึ่งในพื้นที่ดูแลของตำบลจันจว้าไม่มีกรณีดังกล่าว และไม่อนุญาติให้เอกชนมาลงทุนใดๆ

***รศ.ดร.พลวัฒ กล่าวว่า การประกาศสถานะครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นร่วมกันฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม และหลังจากนี้จะร่วมกับชาวบ้านในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเนื่องจากเวียงหนองหล่มถือเป็นสถานที่ที่มีตำนานและประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน ชาวบ้านมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสายศรัทธาความเชื่อ หรือ “สายมู” ซึ่งสามารถทำควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์เวียงหนองหล่มในอนาคตได้เป็นอย่างดี

///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading