13 ธันวาคม 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

รมช.เกษตรลงเชียงรายติดตามสถานกักโค-กระบือส่งออก  

***เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567  ที่ด่านกักกันสัตว์เชียงราย ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดเชียงราย รับฟังข้อมูลโครงการสถานกักกันสัตว์ (โค-กระบือ) เพื่อการส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารกรมปศุสัตว์ ร่วมลงพื้นที่ โดยมีนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนนายอำเภอเชียงของ และประชาชนชาวอำเภอเชียงของให้การต้อนรับ

***ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ มีแผนการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างคอกกักสัตว์เพื่อการส่งออก ซึ่งด่านกักกันสัตว์เชียงรายได้รับแผนที่แสดงพื้นที่ขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อกิจกรรมสาธารณูปโภคและกิจการอื่นในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.) เพื่อสร้างคอกกักสัตว์ปลอดโรคเพื่อการส่งออก เนื้อที่ประมาณ 37 ไร่ 2 งาน 85 ตารางวา บริเวณใกล้กับด่านกักกันสัตว์เชียงราย ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะใช้ในการกักกันสัตว์ เพื่อคัดกรอง ตรวจโรคในสัตว์ ได้มาตรฐาน สามารถส่งออกไปทางสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อย่างสะดวก เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ และแก้ไขปัญหาด้านการตลาดปศุสัตว์ต่อไป

***ด่านกักกันสัตว์เชียงราย มีสถานที่ปฏิบัติงานจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย ปฏิบัติงานด้านสารบัญ อำนวยการ และการตรวจสอบสินค้าปศุสัตว์เข้า – ออก เขตด่านศุลกากรแม่สาย และท่าปศุสัตว์เชียงแสน ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน เป็นจุดตรวจสอบส่งออกสัตว์มีชีวิต ชนิด โค กระบือ สุกร และเป็นที่ตั้งของจุดทำความสะอาดยานพาหนะขนส่งสัตว์ และด่านกักกันสัตว์เชียงราย ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ใช้เป็นสถานที่กักกันสัตว์ซึ่งสามารถกักสัตว์ชนิด โค – กระบือ ได้จำนวน 200 ถึง 300 ตัว ซึ่งที่อำเภอเชียงของ สามารถส่งออก โค กระบือ สุกร และแพะมีชีวิต ซากสัตว์ และอาหารสัตว์ ผ่านทางสะพานมิตรภาพแห่งที่ 4 เชียงของ – ห้วยทราย และส่งออกสัตว์ปีก ซากสัตว์ และอาหารสัตว์ ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผ่านทางท่าเรือผาถ่าน ตำบลเวียง

***ปัจจุบัน ด่านกักกันสัตว์เชียงราย ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ สามารถกักสัตว์ชนิด โค – กระบือ จำนวน 200 – 300 ตัวเพื่อการส่งออก และเป็นจุดพ่นยาฆ่าเชื้อยานพาหนะ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสัตว์ปีก ชนิด ไก่ เป็ด สุกรขุน โคเนื้อ กระบือ และซากสัตว์เพื่อการบริโภค ตามลำดับ โดยมีเส้นทางการขนส่งสินค้าปศุสัตว์ผ่านทาง สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และส่งออกซากสัตว์และผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ทางเรือ ณ ท่าเรือผาถ่าน ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการส่งออกสัตว์ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

***อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกำหนดการไปรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและเยี่ยมชมจุดลงจากท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนเพื่อการส่งออก และในช่วงบ่ายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะฯ มีกำหนดการรับฟังการบรรยายการดำเนินงานเครือข่ายโคเนื้อล้านนา พร้อมรับฟังปัญหาและพบปะเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ณ สวนลุงดี อำเภอเมืองเชียงราย

ขอบคุณข้อมูลข่าว/ภาพจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading