22 มีนาคม 2025

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

ศูนย์วิจัยจุฬาฯถอดบทเรียนน้ำท่วมใหญ่เชียงราย เชิญสื่อร่วมถอดบทเรียนการสื่อข่าวในภาวะวิกฤติ เตรียมปรับระบบศูนย์ข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องรวดเร็ว

รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา นักวิจัยหัวหน้าโครงการฯ
ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
น.ส.นันทวรรณ กันคำ
ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

***เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ห้องลานนา 2 โรงแรมเดอะเฮอิเทจ เชียงราย อ.เมืองเชียงราย ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ถอดบทเรียนอุทกภัยเชียงรายปี 2567 สู่แผนสื่อสารภัยพิบัติ” ภายใต้โครงการวิจัย “ถอดบทเรียนการสื่อสารในสถานการณ์ภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน กรณีศึกษาอุทกภัยพื้นที่จังหวัดเชียงราย” โดยมี รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา นักวิจัยหัวหน้าโครงการฯ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรดำเนินโครงการถอดบทเรียนฯ มี น.ส.นันทวรรณ กันคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย นายครรชิต ชมภูแดง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยสื่อมวลชนเชียงราย ภาคประชาสังคม และผู้ประสบภัย ร่วมการประชุม   

***รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา นักวิจัยหัวหน้าโครงการฯ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการถอดบทเรียนในครั้งนี้เพื่อถอดบทเรียนเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤติที่จะสามารถเตือนประชาชน ช่วยเหลือประชาชนและเยี่ยวยาประชาชนได้ควรจะดำเนินการอย่างไร เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเตรียมความพร้อมในด้านวิธีการสื่อสารในภาวะวิกฤติสู่แผนระดับชาติ ทั้งในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ ระหว่างเกิดเหตุการณ์ และหลังเกิดเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อมวลชนจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนข่าวสาร ทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร สื่อจึงเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดข่าวสารจากภาครัฐไปสู่ประชาชน การวางระบบสื่อที่ดี การทำงานประสานกันของสื่อ จะทำให้การขับเคลื่อนข่าวสารเกิดผลดีขึ้น ลดความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนได้

***ข้อมูลต่างๆที่ได้จากการประชุมทางศูนย์วิจัยจะนำไปวิเคราะห์รวบรวมสรุปเพื่อปรับปรุงแผนในการสื่อสารกรณีการเกิดพิบัติภัยร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ที่มีแผนการสื่อสารกรณีพิบัติภัยในระดับชาติอยู่แล้ว และมีนำไปใช้ในกรณีเกิดพิบัติภัยจริง ซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ส่งให้สื่อต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนและส่งถึงมือสื่อได้อย่างรวดเร็ว ควรต้องมีการตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารที่สื่อสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ทันที และยังควรต้องมีเครื่องมือด้านวิศวกรรมที่สามารถเตือนอุบัติภัยต่างๆเช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ได้ล่วงหน้าจะเป็นสิ่งที่ดีมาก

***น.ส.นันทวรรณ กันคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในภาวะที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ โดยหน้าเที่ประชาสัมพันธ์จังหวัดต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ หรือที่เรียกว่า JIC (ศูนย์ข้อมูลข่าวสารร่วม (Joint Information Center : JIC) ในฐานะสื่อภาครัฐ อละทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารเพื่อประชาสัมพันธ์ IOC (Information Operation Center –IOC) ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (JIC) ในทุกหน่วยมาร่วมไว้ที่ IOC ให้แก่หน่วยงานที่มาช่วยเหลือให้แก่ประชาชน แต่ในการปฏิบัติงานจริงเนื่องจากบุคคลากรของประชาสัมพันธ์จังหวัดมีไม่มากและต้องอยู่ในศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ให้ทุกพื้นที่ที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ห่างไกลกันทำให้การขับเคลื่อนข่าวสารมีความลำบากมากทำให้ขับเคลื่อนข่าวสารต้องใช้เวลาพอสมควร  

***นายจักรภัทร แสนภูธร เลขานุการสมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย ประธานชมรมสื่อออนไลน์จังหวัดเชียงราย และหัวหน้าศูนย์ข่าวภาคเหนือ เพจอีจัน กล่าวว่า อุปสรรคในการทำหน้าที่รายงานข่าวคือขาดอุปกรณ์และเครื่องมือทันสมัยในการเข้าถึงที่เกิดเหตุอุทกภัย เช่น เรือท้องแบน รถโดยสารขนาดใหญ่ และสวัสดิการในการคุ้มครองสวัสดิภาพของสื่อในการปฏิบัติหน้าที่

นายครรชิต ชมภูแดง
ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย
นางจุฑามาส ราชประสิทธิ์
ผู้แทนมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา

***ด้านนายธนกฤติ วรรมณี ผู้สื่อข่าว นสพ.อาณาจักรพายัพ และเพจอาณาจักรข่าว ระบุว่า เนื่องจากประชาชนไม่เชื่อข่าวที่แจ้งว่าน้ำจะท่วมจริง เนื่องจากที่ผ่านมาน้ำไม่เคยท่วมหรือท่วมไม่มาก พอเกิดน้ำท่วมหนักจริงจึงเกิดความเสียหายเพราะอพยพไม่ทัน รวมทั้งการช่วยเหลือจากหน่วยงานก็ไม่ทันการณ์ ควรต้องมีศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (JIC) ที่มีความเข้มข้นเรื่องงานข่าวให้มากขึ้น

นายจักรภัทร แสนภูธร
เลขานุการสมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย
ประธานชมรมสื่อออนไลน์จังหวัดเชียงราย
หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคเหนือ เพจอีจัน
นายธนกฤติ วรรมณี
ผู้สื่อข่าว นสพ.อาณาจักรพายัพ และเพจอาณาจักรข่าว

***นายครรชิต ชมภูแดง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั้งส่วนราชการและหน่วยงานกู้ภัย มีการออกแจ้งข่าวให้ประชาชนได้ทราบว่าก่อนเกิดน้ำท่วมเนื่องจากมีการแจ้งเตือนจากระบบเตือนภัยให้เตรียมเฝ้าระวังแล้ว แต่ประชาชนไม่ยอมย้ายออกจากบ้านเพราะเชื่อว่าน้ำไม่เคยท่วมมากมาก่อนเนื่องจากอยู่ในพื้นที่สูง แต่เมื่อน้ำท่วมใหญ่มาประชาชนบางส่วนจำนวนมากก็ยังไม่ยอมออกจากบ้านเนื่องจากเป็นห่วงทรัพย์สินภายในบ้าน ซึ่งคนในพื้นที่สูงส่วนใหญ่มักจะเก็บทรัพย์สินมีค่ารวมทั้งเงินทองไว้ในบ้าน จึงไม่ยอมทิ้งบ้านและทำให้การอพยพยากลำบาก

///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading