22 มีนาคม 2025

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

ชาวบ้าน “ฝั่งหมิ่น-เมืองรวง” กว่า 100 รวมตัวคัดค้านการเปิดแพล้นปูน ข้องใจ “อบต.-อุตสาหกรรม” อนุญาติไม่ผ่านประชาคมหมู่บ้านได้อย่างไร ผู้ประกอบชี้เแจงดำเนินการถูกต้อง ยินดีให้ชาวบ้านเข้ามาตรวจสอบได้

***เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 มีนาคม 2568 ที่อาคารเอนกประสงค์หมู่บ้านฝั่งหมิ่น ม.7 ต.แม่กรณ์ อ.เมืองเชียงราย นายสงขลา ปิ่นคำ อดีต ผญบ.ฝั่งหมิ่น พร้อมด้วยนายมนัส แก้ววงศ์ ผญบ.ฝั่งหมิ่น ม.7 ต.แม่กรณ์ นำชาวบ้านกว่า 100 คน รวมตัวกันประชุมประชาคมหมู่บ้านเพื่อคัดค้านการก่อสร้างแพล้นปูนของบริษัท ฝั่งหมิ่นคอนกรีต ที่ดำเนินการก่อสร้างแพล้นปูนใกล้กับเขตชุมชนโดยไม่มีการผ่านมติประชาคมหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเกรงจะเกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน สงสัยกระบวนการขออนุญาติเป็นไปโดยไม่ชอบธรรม ซึ่งทางผู้นำทั้ง 2 หมู่บ้านได้ทำหนังสือคัดค้านไปแล้วกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานานกว่า 1 ปีแล้ว แต่เรื่องไม่คืบหน้า ซ้ำผู้ประกอบการยังดำเนินการก่อสร้างแพล้นปูนจนแล้วเสร็จ โดยมีผู้แทนจากอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด มาร่วมรับฟังและรับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้าน และหลังจากการประชุมชาวบ้าน นายสงขลา ปิ่นคำ อดีต ผญบ.ฝั่งหมิ่น พร้อมด้วยนายมนัส แก้ววงศ์ ผญบ.ฝั่งหมิ่น ม.7 ได้นำชาวบ้านเดินขบวนพร้อมชูป้ายคัดค้านไปตามถนนไปถึงบริเวณหน้าแพล้นปูน เป็นระยะทางประมาณ 300 ม. เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการก่อสร้างแพลนท์ปูน ซึ่งงในเวลาเดียวกัน ผู้บริหารของบริษัท ฝั่งหมิ่น ได้จัดประชุมชี้แจงข้อขัดแย้งของชาวบ้านให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่พอดี นายยลรัก เตชะเลิศไพบูลย์ ผู้บริหารบริษัท ฝั่งหมิ่นคอนกรีต ได้เชิญแกนนำชาวบ้านเข้ารับฟังการชี้แจง ซึ่งแกนนำได้นำหนังสือร้องเรียนคัดค้านการก่อสร้างให้กับผู้แทนหน่วยงานที่มาร่วมรับฟังการชี้แจงได้แก่ ผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ผู้แทนนายกอบต.แม่กรณ์ ผู้แทนสาธารณสุขอำเภอเมืองเชียงราย

นายสงขลา ปิ่นคำ
อดีต ผญบ.ฝั่งหมิ่น ม.7

***นายสงขลา ปิ่นคำ อดีต ผญบ.ฝั่งหมิ่น ม.7 กล่าวว่าว่า วันนี้ชาวบ้านได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่กรณ์ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ต่อการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานแพล้นผสมปูนและออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน ที่ไม่มีการผ่านมติประชาคมหมู่บ้าน เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการปกปิดขั้นตอนการประกาศของผู้ประกอบการ ซึ่งกระบวนการขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานนั้น ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต ทั้งการก่อสร้างอาคาร แท่นแพล้นปูน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมือง เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โซนนิ่งสีเขียวที่มีไว้เพื่อการเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อการก่อสร้างโรงงาน แต่ก็มีกระบวนการหาลู่ทางบิดข้อระเบียบกฎหมายให้สามารถดำเนินการได้โดยมิชอบ และผู้ประกอบการก็ไม่เคยผ่านการประชาคมของชาวบ้านมาก่อนเลย เพราะชาวบ้านคัดค้านเนื่องจากเป็นเขตที่อยู่อาศัยของชุมชนมานานแล้ว

***การสร้างโรงงานผสมคอนกรีตย่อมสงผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของชาวบ้านรอบข้างที่ต้องได้รับผลกระทบต่อมลภาวะทั้งทางฝุ่นละออง สารเคมี และเรื่องเสียง อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่กรณ์ไม่ถึง 100 เมตร และไม่มีไม้ยืนต้นที่เป็นแนวกันชนมาแต่แรกเลย แต่อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงรายก็ออกใบอนุญาตมาได้ โดยอ้างว่าผ่านการตรวจสอบจากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กรณ์แล้ว พอสอบถามที่หนึ่งก็จะโยนไปที่หนึ่ง โยนไปโยนมาไม่จบสิ้น

นายมนัส แก้ววงศ์
ผญบ.ฝั่งหมิ่น ม.7 ต.แม่กรณ์

***นายสงขลากล่าวอีกว่า ชาวบ้านได้เคยร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกระบวนการออกใบอนุญาตและพิจารณาทบทวนเพิกถอนใบอนุญาตไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับการตอบรับหรือแก้ไขใด ๆ อ้างเพียงแต่ว่าผ่านกระบวนการมาโดยชอบแล้ว ซึ่งหากกระบวนการชอบจริง เหตุใดจึงไม่เปิดเผยข้อมูลให้กระจ่างแจ้งมาแต่แรก อีกทั้งชาวบ้านไมีการยื่นขอเอกสารที่เกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอนการขออนุญาตของผู้ประกอบการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารไปแล้ว ก็ยังนิ่งเฉยไม่มีการแจ้งหรือส่งมอบเอกสารใดๆ ส่วนนี้ชาวบ้านจะดำเนินการยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ท้ายที่สุดองค์การบริหารส่วนตำบลแม่กรณ์ก็ยังจะรั้นให้มีการรับฟังความคิดเห็นแบบสนทนากลุ่มย่อย ในการพิจารณาการออกใบอนุญาตประกอบ กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งที่ชาวบ้านร้องขอให้ประชาคมมีมติอย่างเปิดเผย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบโดยตรงจากการประกอบกิจการที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชน ก็อ้างว่าผู้ประกอบการเลือกวิธีนี้ ทั้งที่องค์การบริหาร ส่วนตำบลแม่กรณ์มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล กลับบอกว่าผู้ประกอบการประสงค์จะทำวิธีใดก็ย่อมได้หมด เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจเลือก แต่ท้ายที่สุดองค์การบริหารส่วนตำบลก็เลือกเห็นชอบให้ใช้วิธีนี้ จึงเป็นที่มาของการแสดงเจตนารมณ์ของชาวบ้านในวันนี้ โดยชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการอย่างแน่นอน เพราะกระบวนการออกใบอนุญาตมันบิดเบี้ยวและพยายามเร่งดำเนินการภายในเวลาไม่กี่วัน โดยไม่เปิดโอกาสรับฟังเสียงของชาวบ้านที่คัดค้านโรงงานผสมปูนมาแต่แรก เนื่องจากไม่เชื่อว่าจะสามารถควบคุมมลพิษทั้งทางเสียงและฝุ่น รวมถึงสารเคมีที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านได้

***ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านยังได้เคยร้องเรียนให้ตรวจสอบกระบวนการที่มิชอบนี้ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2567 แล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าใด มีเพียงการแจ้งจากสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงรายว่าได้ส่งเรื่องไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆเพิ่มเติม กลุ่มชาวบ้านจึงรวมตัวกันไปร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกระบวนการที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 เมื่อต้นปี 2568 ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเว้นเพิกเฉยไม่ดำเนินการตรวจสอบทั้งที่รู้ว่ามีกระบวนการไม่ชอบและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด นายสงขลากล่าว

***นายมนัส แก้ววงศ์ ผญบ.ฝั่งหมิ่น คนปัจจุบัน กล่าวว่า ทางอุตสาหกรรมจังหวัดชี้แจงว่าผู้ประกอบการได้ดำเนินการตามขั้นตอนการขออนุญาตทั้ง 9 ข้อเรียบร้อยแล้ว และวันนี้เป็นการเชิญตัวแทนชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูสถานที่และรับฟังข้อกังกลของชาวบ้าน แต่เราจะไม่เข้าร่วมการดำเนินการดังกล่าว เพราะหากเราเข้าไป เขาอาจจะนำไปกล่าวอ้างความชอบธรรมในภายหลังว่าได้มีชาวบ้านมาร่วมรับฟังแล้ว หากขั้นตอนในวันนี้ผ่านไปด้วยดี ผู้ประกอบการก็จะสามารถเปิดดำเนินการโดยชอบธรรม เราจะไปคัดค้านอะไรไม่ได้อีกแล้ว เรายืนยันว่าเราไม่เอาแพล้นปูน อยากให้เขาย้ายออกไปให้ห่างจากชุมชนอย่างน้อย 1 กม.

***น.ส.บังอร แปแจ่กุ อายุ 34 ปี และ น.ส.นุชนันท์ อางิ อายุ 39 ปี กล่าวว่า พวกตนมีบ้านอยู่ติดกับแพล้นปูนดังกล่าว โดยได้ซื้อที่ดินไว้ที่นี่มานานแล้ว แต่เพิ่งได้มาสร้างบ้านอยู่อาศัยได้เกือบ 2 ปี แต่พอสร้างเสร็จก็มารู้ว่าข้างบ้านรั้วติดกัน เขาก่อสร้างเป็นแพล้นปูน ซึ่งพวกตนกังวลว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทั้งเรื่องฝุ่น เรื่องเสียง ซึ่งตนมีเด็กๆต้องดูแลอยู่อีก 3-4 คน จึงกังวลเรื่องก่อสร้างแพล้นปูนดังกล่าวจะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กเป็นอย่างมาก ลำพังทุกวันนี้แค่เฝ้าระวัง PM2. 5 ก็ลำบากมาพออยู่แล้ว

***นางสงกรานต์ ธรรมธิ อายุ 56 ปี กล่าวว่า ชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างมาตั้งแต่ต้น แต่ผู้ประกอบการยังฝืนก่อสร้าง ไม่ฟังเสียงชาวบ้าน คาดว่าปัญหาในอนาคตจะต้องมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ทั้งเรื่องฝุ่นเรื่องเสียง ตอนแรกที่จะสร้างเขาก็มาถามอยู่ แต่ตนก็บอกแล้วว่าไม่เอา สุดท้ายเขาก็ยังก่อสร้างอยู่ดี แล้วเขาจะไปถามเราไปเพื่ออะไร ถ้าไม่คิดจะฟังกันตั้งแต่แรก ลำพังทุกวันนี้เขาทำงานเสียงดังเราก็ต้องทนอยู่แล้ว แล้วเขาจะเอาแพล้นปูนมาซ้ำเติมชาวบ้านอีกทำไม

***ด้านนายยลรัก เตชะเลิศไพบูลย์ ผู้บริหารบริษัท ฝั่งหมิ่นคอนกรีต กล่าวว่า ตนได้เชิญตัวแทนจากอุตสาหกรรมจังหวัด ทสจ. สสจ. อบต.แม่กรณ์ และตัวแทนชาวบ้าน มาร่วมฟังการชี้แจงการดำเนินกิจการ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า การดำเนินกิจการแพล้นปูนดังกล่าวตนได้ผ่านการขออนุญาตตามขั้นตอนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกอย่าง และวันนี้ก็เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมการชี้แจง แต่ชาวบ้านก็ไม่ได้มาเข้าร่วม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าติดปัญหาอะไร โดยระยะเริ่มต้นทางตนก็ได้เข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านมาแล้วหลายครั้งแล้ว แต่ชาวบ้านกังวลเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางตนก็มั่นใจว่าการก่อสร้าง มีการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยทุกอย่าง ยินดีให้ชาวบ้านได้มาเห็นสถานที่จริง แต่กลับไม่มีใครมารับฟัง ซึ่งในความเป็นจริง ฝ่ายที่ต้องกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นฝ่ายตนเสียมากกว่า เพราะหากตรวจพบว่าไม่ผ่านมาตรฐาน สถานประกอบการที่ตนลงทุนหลัก 10 ล้าน ก็ต้องโดนสั่งปิด ซึ่งตนก็ต้องให้ความสำคัญมากเหมือนกัน กรณีชาวบ้านอยากให้ตนย้ายสถานประกอบการไปตั้งในที่ห่างไกลชุมชน แต่ที่ดินของตนอยู่ตรงนี้ แผนที่สี่เหลี่ยมมันก็ต้องมีติดที่ดินรอบข้างเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว หากจะให้ย้าย แล้วใครจะเป็นคนจ่ายค่ารื้อถอนโยกย้ายให้ หลังจากนี้หากไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ ก็อาจจะต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

***ต่อมาทางฝ่ายปกครองโดยนายบุญส่ง ตินารี นายอำเภอเมืองเชียงราย ได้มอบหมายให้ปลัดอำเภอพร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนผู้นำชุมชน ไปร่วมพูดคุยกันที่ อบต.แม่กรณ์ โดยฝ่ายปกครองได้ให้ทางผู้นำชุมชนทำหนังสือร้องคัดค้านการเปิดกิจการมายื่น เพื่อที่ทางฝ่ายปกครองจะได้มีคำสั่งให้เปิดประชาคมเพื่อรับฟังปัญหาของชาวบ้านต่อไป

///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading