1 พฤษภาคม 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

ผู้ตรวจการแผ่นดินตามโครงการเพิ่มทักษะอาชีพนักเรียนเชียงราย ที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ปีงบประมาณ 2566 โดยมีเงินสงเคราะห์ให้แก่นักเรียนในระหว่างการฝึกอบรมอาชีพ

***เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566จังหวัดเชียงราย โดยมีนางภัทราวดี สุทธิธนกูล รองผวจ.เชียงราย ในฐานะประธานคณะกรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยน.ส.อาภากร ว่องเขตกร ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายจตุพร พวงไวย์ ผอ.กลุ่มงานแผนงานและสารสนเทศ ผู้แทนสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมการประชุม

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
น.ส.อาภากร ว่องเขตกร
ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นางภัทราวดี สุทธิธนกูล
รองผวจ.เชียงราย

***นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการติดตามผลการดำเนินงานโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จังหวัดเชียงราย รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ ฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งจากสถิติข้อมูลนักเรียนที่จบการฝึกอบรมของกองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้ง 76 พบว่ามีจำนวนนักเรียนที่จบการฝึกอบรมกว่า 800 คน ซึ่งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย ได้ดำเนินการเปิดฝึกอบรมทักษะด้านอาชีพเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมมีจำนวน 16 คน หลักสูตรสาขาที่เปิดฝึกอบรม จำนวน 2 หลักสูตร โดยหลักสูตรที่เปิดการอบรมและได้รับความสนใจ ได้แก่ ช่างซ่อมและบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ และช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม (ผ้า) ปัจจุบันเด็กที่ผ่านการอบรมนี้ได้ประกอบอาชีพมีงานทำในสถานประกอบการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีรายได้ให้ตนเองและครอบครัว ซึ่งสถานประกอบการได้ให้ความสนใจกับเด็กที่ผ่านการอบรมนี้เป็นจำนวนมาก แต่เด็กที่เข้าอบรมในโครงการนี้ยังมีอยู่เป็นจำนวนน้อยทำให้ไม่เพียงพอในตลาดแรงงาน รวมถึงเด็กบางคนได้นำความรู้จากการฝึกอบรมไปช่วยกิจการหรือธุรกิจของครอบครัวอีกด้วย

***นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากการติดตามผลดำเนินงานโครงการฯ ประจำปี 2566 ยังได้มีการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ประจำปี 2567 ด้วย โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมแนวทางการขับเคลื่อนบางประการ เช่น การประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะ เมื่อได้ผลการสำรวจและจำแนกนักเรียนกลุ่มเป้าหมายมาแล้ว ให้มีการเพิ่มขั้นตอนการจัดประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อและผู้ปกครองโดยเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง โดยมีลักษณะเป็นกระบวนการจัดประชุมชี้แจงเฉพาะกลุ่ม เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ พร้อมทั้งเป็นการเชิญชวนให้มาเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงเรื่องการสนับสนุนเงินสงเคราะห์เพื่อชดเชยรายได้ในระหว่างการฝึกอบรมตามโครงการฯ

***เมื่อได้ข้อมูลของนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการฯ มาแล้ว ให้มีการพิจารณาช่วยเหลือสนับสนุนเงินสงเคราะห์ประเภทต่าง ๆ ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยให้การสนับสนุนเงินสงเคราะห์ประเภท ต่าง ๆ ที่นักเรียนและครอบครัวของนักเรียนจะมีสิทธิได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการชดเชยรายได้ให้แก่ครอบครัวในระหว่างที่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายต้องเข้าร่วมฝึกอบรมตามโครงการฯ ได้แก่ 1. เงินสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน 2. เงินสงเคราะห์รายบุคคล กองทุนคุ้มครองเด็กจังหวัด 3. เงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน 4. เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก รวมถึงการเพิ่มจำนวนนักเรียนกลุ่มเป้าหมายมาเข้าร่วมโครงการฯ

***เมื่อมีจำนวนนักเรียนกลุ่มเป้าหมายตามโครงการฯ ที่ยังไม่ครบถ้วนตามอัตราที่ได้รับการจัดสรรฝึกอบรม ให้ดำเนินการประสานงานไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด เพื่อให้ช่วยพิจารณาคัดเลือกนักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ระหว่างถูกคุมความประพฤติจากปัญหายาเสพติดและเป็นผู้มีพฤติกรรมที่ดีมาเข้ารับการฝึกอบรมทักษะด้านอาชีพตามโครงการฯ (เพิ่มเติม) โดยมีการวางมาตรการป้องกันพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงและไม่พึงประสงค์ในระหว่างการเข้าฝึกอบรม เช่น การตรวจปัสสาวะนักเรียนในทุกสัปดาห์ การตรวจเยี่ยมของคณะเจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด ซึ่งจะเห็นว่าโครงการดังกล่าวช่วยเสริมสร้างและพัฒนาในหลายภาคส่วน ทั้งเด็กที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงผู้ประกอบการที่รับเด็กที่ผ่านการอบรมเข้าทำงาน ซึ่งเด็กเหล่านี้มีฝีมือผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง มีส่วนสำคัญและเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน หรือเด็กเหล่านี้สามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการใหม่ สามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ หรือสานต่อธุรกิจของครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย นายสมศักดิ์กล่าว

///ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading