2 พฤษภาคม 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

ชาวบ้านลงจับกบอึ่งพบชามโบราณแจ้งศิลปากรตรวจ ลักษณะคล้ายเครื่องปั้นเมืองพานคาดอายุราว 400 ปี

1 min read

***เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 28 เม.ย.2563 นายสมชาย ปวงน้อย นายกเทศมนตรีตำบลท่าสุด อ.เมืองเชียงราย ได้รับแจ้งจากนายพิรุณห์ คำวงศ์ กำนันตำบลท่าสุดว่ามีราษฎรไปขุดหาเขียดเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2563 บริเวณเนินดินใกล้สวนสับปะรดในพื้นที่บ้านศรีป่าซาง หมู่ 9 ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย นายสุนทร ยวนตา ผญบ.ศรีป่าซาง จึงแจ้งให้กำนันทราบตามขั้นตอนไปถึงนายอำเภอเมืองเชียงราย และแจ้งต่อไปยังสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาขาเชียงแสนมาเก็บข้อมูลเพื่อส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบต่อไป

นายสมชาย ปวงน้อย
นายกเทศมนตรีตำบลท่าสุด
นายสุนทร ยวนตา (เสื้อเชิ๊ตลาย)
ผญบ.ศรีป่าซาง

นายสุนทร พรมเมือง (เสื้อยืดสีฟ้า)
เจ้าพนักงานดูแลรักษาโบราณสถาน
สำนักศิลปากรที่ 7 สาขาเชียงแสน
น.ส.ธนิกานต์ วรธรรมานนท์
หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน

***นายสุนทร ยวนตา ผญบ.ศรีป่าซาง เล่าว่า เมื่อเช้าวันที่ 27 เม.ย.2563 นายไกรวิทย์ เทพา อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 71 ม.9 บ้านศรีป่าซาง ได้มาแจ้งตนว่า เมื่อเวลาประมาณ 04.00 น. นายไกรวิทย์ได้ออกมาจับกบจับอึ่งเพื่อนำไปเป็นอาหาร เนื่องจากค่ำคืนที่ผ่านมามีฝนตกทำให้กบอึ่งออกมาหากิน จนมาถึงบริเวณคันดินสูงใกล้หนองน้ำริมสวนสับปะรดของเพื่อนบ้าน ได้เหยียบเท้าลงบนพื้นดินที่อ่อนนิ่มเพราะโดนน้ำฝน ดินได้สไลด์ตัวลงมา นายไกรวิทย์ได้เหยียบวัตถุบางอย่าง เมื่อก้มมองดูจึงเห็นเป็นวัตถุคล้ายถ้วยชามเข้าใจว่าเป็นของโบราณวางเรียงกันฝังอยู่ในดินจำนวนมาก จึงได้นำความมาแจ้งให้ตนทราบ ซึ่งตนก็ได้รายงานตามลำดับขั้นบังคับบัญชาไปยังกำนัน และนายสมกิจ เกศนาคินทร์ นายอำเภอเมืองเชียงราย แจ้งต่อไปยังสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ประสานสำนักงานสาขาเชียงแสนให้มาดำเนินการตรวจสอบตามลำดับ ต่อมาเมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 28 เม.ย.2563  น.ส.ธนิกานต์ วรธรรมานนท์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน และนายสุนทร พรมเมือง เจ้าพนักงานดูแลรักษาโบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 สาขาเชียงแสน ได้เดินทางมาตรวจสอบบริเวณที่พบวัตถุคล้ายเครื่องถ้วยโบราณเพื่อเก็บข้อมูล

***น.ส.ธนิกานต์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นของโบราณจริงหรือไม่ ต้องเก็บข้อมูลโดยภาพถ่ายและตรวจสอบสภาพแวดล้อมของบริเวณที่พบวัตถุส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์เบื้องต้นก่อน หากพบว่าเป็นวัตถุโบราณจริง คณะผู้เชี่ยวชาญจะลงพื้นที่ตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งจากสภาพของวัตถุมีลักษณะเป็นถ้วยทรงสูงปากกว้าง และชามทรงกลม เคลือบด้วยน้ำเคลือบสีเขียว ผิวค่อนข้างหนา แตกลายงา ลักษณะคล้ายเครื่องถ้วยพาน ซึ่งปรากฏทำกันในศตวรรษที่ 20-21 อายุประมาณ 400 ปี อย่างไรก็ตามต้องรอผลวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญก่อนจึงจะยืนยันชัดเจนได้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน

/// ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *