25 เมษายน 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

ปราชญ์อาข่าร่วมถอดข้อความบทสวดศพสืบทอดวิถีชาติพันธ์ “อาทู่” แปลไทยเป็นบทเรียนเตือนติดโควิดให้รับผิดชอบสังคม

1 min read
นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก “อาทู่”
ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาข่า

***ระหว่างวันที่ 19-20 มิ.ย.2564 มหาวิทยาลัยอาข่า โดยนายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก หรือ “อาทู่” ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาข่า ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย จัดกิจกรรมเวทีวิเคราะห์ตรวจสอบข้อมูลบทสวดในพิธีศพในโครงการวิจัย “แหนะโท้โท้” เพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาติพันธ์อาข่า โดยรวบรวมปราชญ์ชาติพันธ์อาข่าที่เป็นเจ้าพิธีกรรม คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ในการถอดบทเรียนเพื่อจัดทำต้นแบบการวิจัยไปสู่ต้นฉบับบทเรียนเผยแพร่ออกตามสื่อต่างๆในการสืบสานวิถีประเพณีชาติพันธ์อาข่าสืบต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักบริการวิชาการรับใช้สังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รศ.ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ

***นายอาทู่ กล่าวว่า แหนะโท้โท้ คือบทสวดศพโดยใช้ควาย 1 ตัวสำหรับเซ่นไหว้ ใช้เวลาสวดศพ 3 วัน เนื้อหาบทสวดบอกเรื่องราวการดำเนินชีวิตของชาติพันธ์อาข่าตั้งแต่เกิดจนตาย ตลอดชีวิตต้องทำอะไรบ้างจนถึงวันตายต้องทำพิธีกรรมอย่างไร เรื่องการทำมาหากิน การปกครอง การดูแลสุขภาพ การจัดการสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตทั้งหมดของชนเผ่าอาข่า เดิมบทสวดศพเป็นการสวดปากเปล่า ใช้ความจำ ไม่มีการบันทึก ไม่มีการสืบสานหรือการถ่ายทอด จึงร่วมกันคิดที่จะแปลจากภาษาอาข่าเป็นภาษาไทย ซึ่งภาษาอาข่าเดิมใช้อักษรโรมัน (ภาษาอังกฤษ) แทนเสียงพูดของภาษาอาข่า คนที่อ่านได้ต้องมีความชำนาญเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องหาคนอาข่ารุ่นใหม่ที่พูดภาษาไทยได้มาร่วมทีมวิจัย คนอาข่าดั้งเดิมที่สามารถอ่านภาษาอาข่าที่เป็นภาษาโรมันได้ และปราชญ์ผู้รู้ที่ชาวอาข่าเรียกว่า “พีม่ะ” ช่วยชี้แนะความหมายให้ชัดเจนขึ้น ผลจากการถอดบทเรียนบทสวดศพนี้จะนำไปสู่การสืบสานพัฒนาการเรียนการสอนให้แก่เด็กชาวอาข่า ให้เข้าใจความเป็นมาของพื้นกำเนิดของตนเอง นอกจากนี้ยังไปถึงบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ชนเผ่าชาติพันธ์ที่อ่านภาษาไทยได้ด้วย ทำให้สามารถเข้าใจเรื่องชาติพันธ์อาข่ามากขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจและเกิดความร่วมมือในด้านต่างๆต่อกันเป็นอย่างดี

***การถอดบทเรียนจากบทสวดศพยังสามารถต่อเนื่องไปในด้านเศรษฐกิจด้วย เช่นควรพึ่งพาตนเองอย่างไร มีความรู้เกี่ยวกับดินที่ใช้เพาะปลูก การดูแลตนเองและดูแลสิ่งที่ตนเองทำเพื่อเลี้ยงชีพ และยังเกี่ยวโยงไปถึงการท่องเที่ยวที่จะเป็นข้อมูลให้บริษัทท่องเที่ยวใช้ออกแบบการท่องเที่ยวให้เหมาะกับวิถีความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธ์ ที่จะสร้างรายได้ให้ชุมชน

***นายอาทู่ได้กล่าวถึงสถานการณ์โควิด 19 ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมือเกิดขึ้นมาแล้วพี่น้องชนเผ่าชาติพันธ์ต้องรู้จักปกป้องตัวเองให้ดี อย่าให้เกิดการแพร่ระบาดมาถึงคนในครอบครัว และต้องรับผิดชอบตัวเองด้วยโดยเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพ ปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุข บอกกล่าวข้อมูลให้กับคนที่ไม่รู้ และขอให้พี่น้องชาติพันธ์ไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิด รวมทั้งต้องรับผิดชอบสังคมด้วยการกักตัวเอง 14 วันถ้าเพิ่งเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง

/// ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์     

Loading

More Stories