29 เมษายน 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

“อ้ายเหลิม” เปิดตัวเศรษฐีใจบุญร่วมทุนสร้างหอศิลป์-หมู่บ้านศิลปิน ลั่นพร้อมทุ่มสุดชีวิตภายใน 3 ปี อายุครบ 70 หยุดทุกอย่างขออยู่เฉยๆ

1 min read

***เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ต.ค.2564 ที่ศาลาธรรม วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย ศาสตร์เมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ พร้อมด้วยนายภาสกร บุญญลักษม์ ผวจ.เชียงราย นายวรวิทย์ อร่ามรัศมีกุล ลูกชาย  นายทวีชัย อร่ามรัศมีกุล ตัวแทนเจ้าของที่ดินพื้นที่บ้านสันตาลเหลือง หมู่ 1 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย นายสุรพล มหามงคลสกุล ผู้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านบาท นางณัฐพร ลิ้มเดชาพันธ์ ผู้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านบาท และศิลปินชาวเชียงราย ได้แก่ อ.สมลักษณ์ ปันติบุญ อ.สมพงษ์ สารทรัพย์ อ.ทรงเดช ทิพย์ทอง และดร.ดอยธิเบศ ดัชนี ร่วมแถลงข่าวการมอบที่ดินจำนวน 5 ไร่ และเงินทุนเบื้องต้นจำนวน 2 ล้านบาท ให้แก่สมาคมขัวศิลปะเชียงรายเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการสร้างหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงรายและหมู่บ้านศิลปิน

***ศาสตร์เมธี ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า ความเป็นมาของโครงการหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย ตนเองและดร.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายอีกคนหนึ่ง เคยตกลงกันว่าจะร่วมกันสร้างหอศิลป์ให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะเชียงรายไม่มีสถานที่ทางงานศิลปะมากนัก ที่ผ่านมาก็อาศัยเพียงบ้านดำของดร.ถวัลย์และวัดร่องขุ่นในการแสดงผลงานทางศิลปะเท่านั้น ซึ่งดร.ถวัลย์บอกว่าให้ทำด้วยตัวเองไม่ต้องหวังพึ่งภาครัฐ แต่ดร.ถวัลย์ได้เสียชีวิตไปก่อนตนจึงต้องสานต่อโครงการนี้ให้สำเร็จ จึงได้เสาะหาที่ดินที่เหมาะสมเพื่อก่อสร้างมานานหลายปี ได้ชักชวนให้ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชายของดร.ถวัลย์ และศิลปินชาวเชียงรายให้มาร่วมกันทำ แต่ปรากฎว่าผู้ว่าราชการจังหวัดหลายคนที่ผ่านมายังไม่สามารถทำได้สำเร็จ และเคยมีผู้บริจาคที่ดินมาหลายรายๆ ละ 5-30 ไร่ ก็ไม่สำเร็จ เพราะที่ดินบางรายน้อยเกินไปและบางรายอยู่ห่างไกลไม่เหมาะสม ซึ่งเดิมนายทวีชัยเจ้าของที่ดินต้องการมอบที่ดินให้ 2 ไร่ เพื่อก่อสร้างหอศิลป์ฯ แต่ตนคิดว่าน้อยเกินไปจึงไม่รับ นายทวีชัยเจ้าของที่ดินเป็นคนมีฐานะดีมีที่ดินอยู่กว่า 800 ไร่ ถามตนว่าต้องการกี่ไร่ ตนบอกว่าต้องการอย่างน้อย 4 ไร่  นายทวีชัยจึงตัดสินใจมอบให้ 5 ไร่ เพราะเห็นว่าจะทำให้เกิดโครงการดีๆให้แก่ชาวเชียงราย

***ศาสตร์เมธี ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า โครงการจะแบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรกจะใช้เงินที่ได้มาก้อนแรกทำการถมดินปรับที่เสียก่อน เพื่อก่อสร้างอาคารหอศิลป์ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท เพื่อให้ทันการจัดงานแสดงศิลปะระดับโลกที่จังหวัดเชียงรายในงาน “ไทยแลนด์ อาร์ต เบียนนาเล่ เชียงราย  ส่วนในเฟสที่ 2 จะสร้างอาคารใหญ่เพื่อให้เป็นหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงรายที่สมบูรณ์แบบ ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี งบประมาณไม่น้อยกว่า  100 ล้านบาท ซึ่งตนขอเชิญชวนเศรษฐีชาวเชียงรายให้มาร่วมบริจาคบ้าง เพราะเท่าที่เห็นเวลานี้มีแต่ผู้บริจาคที่เป็นคนกรุงเทพฯเท่านั้น ส่วนตนเองจะขอสร้างผลงานอีก 3 ปีก็จะหยุดทุกอย่างอยู่อย่างเงียบๆเพื่อรอวันตาย ซึ่งปัจจุบันตนอายุ 67 ปี เมื่อครบ 70 ปีก็หยุดทำทุกอย่าง

***ในเวลานี้ตนขอทำ 3 เรื่องให้แล้วเสร็จคือ 1.หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงรายซึ่งจะมีงานประติมากรรมที่ยิ่งใหญ่และโดดเด่นบนดาดฟ้าอาคารสามารถมองเห็นได้จากระยะไกลและบนเครื่องบิน ภายในจัดแสดงผลงานศิลปะจากศิลปินทั่วโลก มีหอศิลปะการแสดงลักษณะเธียร์เตอร์เพื่อเป็นเวทีให้ศิลปินประเภทนาฏกรรมและดนตรี 2.สร้างหมู่บ้านศิลปิน โดยมีข้อตกลงกับนายทวีชัยว่าให้ขายที่ดินบางส่วนในราคาถูกให้เฉพาะแก่ศิลปินชาวเชียงราย 40 คน ซื้อไปเพื่อสร้างบ้านอยู่อาศัยและเป็นที่สร้างผลงาน ซึ่งศิลปินต้องได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการหอศิลป์ นอกจากนี้ยังมีบ้านเช่าสำหรับศิลปินทั่วโลกได้มาเช่าทำงานจำนวน 5 หลัง เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะสามารถสร้างเงินเข้าจังหวัดเข้าประเทศได้จำนวนมาก เพราะค่าเช่าบ้านในต่างประเทศราคาแพงมาก เช่นในประเทศญี่ปุ่น และเยอรมัน เป็นต้น 3.สนับสนุนโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในการหาทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การผ่าตัดสมองเพื่อชาวเชียงราย ศาสตร์เมธี ดร.เฉลิมชัย กล่าว

***ด้านนายภาสกร กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองศิลปะที่มีศิลปินมากกว่า 300 คน และมีศิลปินแห่งชาติผู้ยิ่งใหญ่ถึง 2 คน คือ ดร.ถวัลย์และศาสตร์เมธี ดร.เฉลิมชัย ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในต่างประเทศมีหอศิลป์ลักษณะนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อส่งเสริมงานด้านศิลปะและยังประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยวด้วย ตนได้เห็นความพยายามของศิลปินนำโดยศาสตร์เมธี ดร.เฉลิมชัย ที่ได้พยามหาที่ดินเพื่อการก่อสร้างมานาน กระทั่งนายทวีชัยได้บริจาคที่ดินให้จำนวน 5 ไร่ ส่วนตัวในนามภาครัฐโดยจังหวัดจะให้การสนับสนุนการก่อสร้างให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงราย ที่ผ่านมาแม้เชียงรายจะมีศิลปินจำนวนมากหลายคน แต่บ้านศิลปินก็ยังอยู่กระจัดกระจายกัน ดังนั้นหากมีหอศิลป์ร่วมสมัยและหมู่บ้านศิลปินอยู่ในบริเวณเดียวกัน นักท่องเที่ยวและนักนิยมงานศิลป์จะได้เดินทางมาเยี่ยมชมได้อย่างเต็มที่

/// ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading