25 เมษายน 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

“คนลุ่มน้ำโขง” ร่วมเครือข่ายพันธมิตรประชาชน-นักวิชาการ 17 องค์กร แจ้งเตือนสร้างเขื่อนหลวงพระบางละเมิดข้อตกลงการอนุรักษ์มรดกโลก แจ้งเตือนสร้างเขื่อนหลวงพระบางละเมิดข้อตกลงการอนุรักษ์มรดกโลก

1 min read

***จากแผนการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบางของ สปป.ลาว มีแผนสร้างขวางแม่น้ำโขงเหนือเมืองมรดกโลกหลวงพระบางเพียง 25 กม.เท่านั้น อยู่ใกล้พื้นที่กันชนขนาด 12,500 เฮกตาร์ ซึ่งเป็นการละเมิดข้อกำหนดของการเป็นเมืองมรดกโลก ตามอนุสัญญามรดกโลก พ.ศ.2515 และที่ตั้งเขื่อนยังอยู่ใกล้รอยแยกของแผ่นเปลือกโลกที่มีความอ่อนไหว และมีแผ่นดินไหวหลายครั้งใน แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ในห้วงที่ผ่านมา

 ***นายนิวัฒน์  ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่า จากแผนการดังกล่าว ทำให้เกิดข้อกังวลต่อพันธมิตรองค์กรรักษาแม่น้ำ ทั้งระดับโลกและภูมิภาค มีความห่วงใยกังวลเช่นเดียวกับกลุ่มรักษ์เชียงของซึ่งเป็นคนลุ่มน้ำโขง  ดังนั้นทางกลุ่มรักษ์เชียงของจึงได้เคลื่อนไหวเพื่อยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจนมิสามารถหวนคืนสู่การเป็นมรดกโลกได้  ด้วยการส่งหนังสือแจ้งเตือนการสร้างเขื่อนหลวงพระบางละเมิดข้อตกลงการอนุรักษ์มรดกโลกและเรียกร้องรายงานการประเมินผลกระทบต่อมรดกโลก (HIA) ที่มีมาตรฐานสมบูรณ์และมีข้อความสำคัญครบถ้วน

 ***“เรากลุ่มรักษ์เชียงของในนามสมาชิกสบทบ พันธมิตรองค์กรรักษาน้ำ (Waterkeeper Alliance Affilate) ร่วมกับตัวแทนสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง-ประเทศไทย ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน องค์กรเครือข่ายริมฝั่งแม่น้ำโขง และนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ 17 องค์กรได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงหัวหน้าคณะตัวแทนคณะกรรมการมรดกโลกของไทย และสำเนาถึงทูตไทยประจำฝรั่งเศส และสำเนาถึงผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก  รวมไปถึงได้ร้องเรียนไปยังรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรมว.กระทรวงพลังงาน เพื่อปกป้องเมืองมรดกโลกหลวงพระบางอย่างทันท่วงที” นายนิวัฒน์กล่าว

 ***ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ทางกลุ่มพันธมิตรองค์กรรักษาน้ำเห็นร่วมกันว่า การดำเนินการของบริษัทก่อสร้างไทยซึ่งได้เร่งรีบลงมือเตรียมการก่อสร้างในพื้นที่ตั้งเขื่อนไปแล้ว 80% ในขณะที่การดำเนินการประเมินผลกระทบต่อมรดกโลก (HIA) ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ นั้นถือเป็นการละเมิดอนุสัญญามรดกโลก ปี 2515 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 6.3 ของอนุสัญญาว่า รัฐภาคีของอนุสัญญาต้องละเว้นจากการดำเนินการใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งอาจนำไปสู่การทำลายมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ระบุไว้ในอนุสัญญาข้อ 1 และ 2 ที่มีอยู่ในอำนาจอธิปไตยของรัฐผู้ทำสัญญาอื่น ๆ รวมถึงบริษัทเอกชนของประเทศต่างๆ ที่ลงนามในอนุสัญญา ในกรณีนี้ รัฐบาลไทยต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศของตนปฏิบัติตามอนุสัญญา คือ บริษัท ช. การช่าง การที่รัฐบาลไทยโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เตรียมเจรจาเรื่องการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใดๆ ขณะที่รายงานผลกระทบมรดกโลก ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ถือว่าเป็นการละเมิด มาตรา 6.3 ของอนุสัญญา พ.ศ. 2515

***เขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดมหึมา 1,460 เมกะวัตต์ อยู่ใกล้ไปทางตอนเหนือของเมืองมรดกโลกและแนบชิดกับเขตกันชนของเมืองมรดกโลกหลวงพระบางที่ได้รับการยอมรับว่ามีภูมิทัศน์ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อันเก็บรักษาคุณค่าสากลอันโดดเด่นทางพุทธศาสนาและวิถีชีวิตคนแม่น้ำโขง แม่น้ำอู และแม่น้ำคาน อันอุดมสมบูรณ์ จนกลายเป็นมรดกอันงดงามและหล่อเลี้ยงทั้งวิถีวัฒนธรรมและเศรษฐกิจปากท้องของชาวหลวงพระบาง ชาวลาว ชาวแม่น้ำโขง และชาวโลก

 ***“การที่มีเขื่อนขนาดใหญ่ตั้งชิดเมืองขนาดนี้ มันจะกลายเป็นการทำลายที่ชัดเจนและกระทบแน่นอนต่อสภาพความเป็นอยู่และภูมิทัศน์ทุกอย่าง ด้วยแม่น้ำโขงถูกทำลายมาตลอดด้วยเขื่อนที่สร้างไปกว่า 11 เขื่อนแล้ว เพื่อให้เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและคลองระบายน้ำเพียงเท่านั้น และสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ละเลยไม่ได้ คือ เขื่อนนี้ยังอยู่ในจุดรอยแยกของแผ่นเปลือกโลกที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ” นายนิวัฒน์กล่าว

 ***ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ตัวแทนสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง-ประเทศไทย และพันธมิตรองค์กรรักษาน้ำได้ย้ำว่า “การศึกษาที่รอบคอบในกรอบของยูเนสโกคือการทำรายงานผลกระทบด้านมรดกโลก (HIA) ที่เป็นมาตรฐานโดยสมบูรณ์ตามแนวทางของคณะที่ปรึกษาของ ICOMOS และต้องมีสถาบันการศึกษาที่เป็นกลาง เช่น มหาวิทยาลัยที่ไม่มีส่วนได้เสียในการสร้างเขื่อนเพื่อเข้าร่วมในการประเมินผลกระทบด้าน HIA ไม่ใช่บริษัทที่ปรึกษาด้านการก่อสร้างเขื่อน รวมถึงนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล การมีส่วนร่วมของชาวหลวงพระบางซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในด้านเศรษฐกิจและวิถีชีวิต การพึ่งพาอาศัยทางประวัติศาสตร์ในระบบนิเวศของแม่น้ำโขง และความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาซึ่งเป็นที่รู้จักว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นคุณค่าสากลที่โดดเด่นของหลวงพระบางไปทั่วโลก”

 ***อนึ่ง คณะกรรมการมรดกโลกจะประชุมใหญ่ครั้งที่ 44 โดยมีเมืองฝูโจวของจีนเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค.2564 นี้ ทางระบบออนไลน์ของยูเนสโก คาดว่าจะมีเรื่องมรดกโลกที่อยุธยากับทางรถไฟความเร็วสูง, รวมถึงกรณีเขื่อนหลวงพระบางกับมรดกโลกหลวงพระบาง เป็นประเด็นเข้าพิจารณาด้วย

/// ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์
ข้อมูลข่าว : กลุ่มรักษ์เชียงของ
ภาพยามเย็นในแม่น้ำโขงหน้าเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง : Andrew Stone

(วันที่ 12 ก.ค. 2564 เวลา 10.00 น.)

Loading