13 ธันวาคม 2024

chiangraitodaynews

chiangraitodaynews

“แม่ครูบัวเรียว” จัดไหว้ครูช่างฟ้อนไลฟ์สดลูกศิษย์ปลื้ม

***เมื่อเวลา 09.09 น. วันที่ 5 มิ.ย.2564 ที่บ้านสาวไหม ชุมชนศรีทรายมูล ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) พ.ศ.2559 จัดพิธีไหว้ครูสายสกุลช่างฟ้อนประจำปี 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด 19) จึงมีแต่ลูกศิษย์และคนในครอบครัวมาร่วมพิธีเพียง 20 คน โดยมี พระครูใบฎีกาทศพล ลักขสุวัณโณ จากวัดพระแก้ว อดีตลูกศิษย์ มาเป็นเจ้าพิธีกรรม นางวราภรณ์ จันทร์ศิลป์ ภรรยานายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย อดีตลูกศิษย์ มาร่วมพิธี ซึ่งตลอดพิธีการมีการถ่ายทอดไลฟ์สดผ่านทางเพจ ศูนย์เรียนรู้ แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ มีลูกศิษย์เข้ามาชมการถ่ายทอดสดจำนวนมากด้วยความปลาบปลื้ม

***แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2489 ที่จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันอายุ 75 ปี เป็นบุตรของนายกุย และนางจันทร์ฟอง สุภาวสิทธิ์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านหนองบัว ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย และได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานาฏศิลป์และการละคร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2547

แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์

***แม่ครูบัวเรียวเริ่มต้นเรียนการฟ้อนจากบิดาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ได้รับการถ่ายทอด ท่ารำต่างๆ รวมทั้งท่าฟ้อนสาวไหมซึ่งบิดาได้รับแรงบันดาลใจจากอากัปกิริยาการทอผ้าฝ้ายของคนสมัยโบราณ จนเป็นผู้มีความสามารถในการฟ้อนต่างๆ ได้อย่างงดงาม เมื่อได้นำออกแสดงก็มีการปรับปรุงท่าฟ้อนให้เหมาะสมมากขึ้นตามแบบหญิงสาวชาวล้านนา ต่อมาได้รับการถ่ายทอดท่ารำฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน รำสีนวล ยวนรำพัด สร้อยแสงแดง ฟ้อนเงี้ยว ฯลฯ จากนายโม ใจสม อดีตนักดนตรีและนาฏศิลป์ชั้นครูของอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และช่วยปรับปรุงเพลงสาวไหมทางเชียงรายขึ้นต่อเนื่องจากของเดิมแปลงทำนองจากเพลงลาวสมเด็จ จนการฟ้อนสาวไหมกลายเป็นเอกลักษณ์การฟ้อนของชาวบ้านศรีทรายมูล และจังหวัดเชียงรายจนถึงปัจจุบัน

***ต่อมา นางพลอยศรี สรรพศรี อดีตนาฏกรในคุ้มเจ้าดารารัศมีและคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้นำท่าฟ้อนสาวไหมไปพัฒนาขึ้นเป็นสาวไหมอีกทางหนึ่ง ใช้ทำนองที่แตกต่างออกไป คือ เพลงปั่นฝ้าย บรรจุเป็นการฟ้อนแบบหนึ่งในวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา แม่ครูบัวเรียวได้นำฟ้อนสาวไหมและฟ้อนพื้นบ้านไปเผยแพร่ในพื้นที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชมรมพื้นบ้านล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญทั้งการศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์ลีลาการฟ้อนแบบดั้งเดิม แม่ครูบัวเรียวได้รื้อฟื้นความรู้ในการฟ้อนพื้นบ้านหลายอย่างขึ้นมาถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ ปรับปรุงการฟ้อนสาวไหมขึ้นเพิ่มเติม เรียบเรียงกระบวนการฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ ฟ้อนเล็บเชียงราย ฟ้อนเทียน ประดิษฐ์ท่ารำวงล้านนา ฟ้อนแม่หญิงล้านนา เป็นต้น รวมทั้งทำหน้าที่สอน ประกอบพิธีไหว้ครู และสาธิตการฟ้อนพื้นเมืองต่างๆ ให้แก่กลุ่มสตรี และเยาวชนในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงอยู่เสมอ

***แม่ครูบัวเรียวได้ทำหน้าที่เป็นวิทยาการถ่ายทอดความรู้ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง แม่ครูบัวเรียวจะฟ้อนสาวไหมทุกครั้งที่มีงานสำคัญๆ ของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง กว่า 50 ปีของการทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ในการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนา และเป็นแหล่งข้อมูลหลักทางนาฏศิลป์แก่นักวิชาการ สื่อมวลชน ประกอบกับความรู้ความสามารถ ผลงานที่โดดเด่น จึงมีสื่อเอกสาร ตำรา วิทยุโทรทัศน์ ตลอดจนสื่อออนไลน์นำไปเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ จนได้รับการยกย่องให้เป็น“แม่ครู”ของชาวล้านนา ปัจจุบันมีลูกศิษย์จากรุ่นสู่รุ่นนับร้อยรุ่น จำนวนหลายพันคนซึ่งกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆและต่างประเทศ แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) พุทธศักราช 2559

(ประวัติแม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ จากเว็บไซท์ ศิลปินแห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)

/// ศูนย์ข่าวเชียงรายทูเดย์

Loading